ประเภทและหลักเกณฑ์การขอ Visa
การขอวีซ่าไทยมีหลายประเภทตามวัตถุประสงค์และกิจกรรมที่ต้องการทำในประเทศไทย โดยประเภทและหลักเกณฑ์การขอวีซ่ามีดังนี้:
1. วีซ่าคนอยู่ชั่วคราวเพื่อการพำนักในราชอาณาจักรระยะยาว (Long Stay O-A , O-X)
การตรวจลงตราสำหรับคนต่างชาติซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีบริบูรณ์ ซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อการพักผ่อนต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- คนต่างด้าวทุกสัญชาติ อายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (นับถึงวันยื่นคำร้อง)
- มีสัญชาติและถือหนังสือเดินทางของประเทศต่อไปนี้:
- สหราชอาณาจักร/ออสเตรเลีย/เดนมาร์ก/ฟินแลนด์/ฝรั่งเศส/สหรัฐอเมริกา/อิตาลี/นอร์เวย์/สวีเดน/ญี่ปุ่น/แคนาดา/เยอรมนี/เนเธอร์แลนด์/สวิตเซอร์แลนด์
หลักเกณฑ์ทางการเงิน
(ก) มีเงินฝากประจำในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หรือ (ข) มีเงินฝากประจำในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทและมีรายได้ประจำต่อปีไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท โดยภายใน 1 ปี จะต้องมีเงินฝากประจำในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ให้คงเงินในหัวข้อ (ก) หรือ (ข) เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เมื่อครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถอนเงินนั้นได้ทั้งนี้ จะต้องมีเงินฝากเหลือในบัญชีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท
ซึ่งการถอนเงินฝากจะถอนได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ซื้อคอนโดมิเนียม ซื้อยานพาหนะและการศึกษาของบุตร ในประเทศไทยเท่านั้น
- ไม่มีประวัติที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งต่อประเทศไทยและประเทศที่ตนมีสัญชาติสัญชาติหรือประเทศที่ตนมีถิ่นพำนักถาวร
- ไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ได้แก่ โรคเรื้อนวัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้าง โรคยาเสพติดให้โทษ โรคซิฟิลิส ระยะที่ 3
- มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักรโดยมีจำนวนเงินประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ซึ่งผู้ประสงค์ที่จะขอรับการตรวจลงตราสามารถหาข้อมูล และซื้อกรมธรรม์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ longstay.tgia.org
- คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวรหัส “O-X” (Non – O – X) เพื่อติดตามเข้ามาพำนักระยะยาวได้ ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non O-X ทำงาน เว้นแต่เป็นการทำงานอาสาสมัครตามรายชื่องานที่เข้าข่ายเป็นงานอาสาสมัครของกรม จัดหางาน (อยู่ในระหว่างการจัดทำ)อายุวีซ่า 5 + 5 ปี (Multiple Entries) ค่าธรรมเนียม 10,000 บาท
สถานที่ยื่นคำร้อง
- ยื่นคำร้องในประเทศไทย : สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- ยื่นคำร้องในต่างประเทศ : สถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ ในประเทศของตนหรือที่ตนมีถิ่นพำนักถาวร หรือที่มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศของตนเท่านั้น
เอกสารประกอบการพิจารณา
- หนังสือเดินทางที่มีอายุใช้ได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- แบบฟอร์มการขอรับการตรวจลงตรา (พร้อมรูปถ่ายขนาด 4 x 6 ซม. ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน) จำนวน 3 ชุด
- แบบฟอร์มประวัติส่วนตัว จำนวน 1 ชุด
- หลักฐานด้านการเงิน (เลือกข้อใดข้อหนึ่ง)
- หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากของธนาคารพร้อมระบุข้อมูลสำหรับติดต่อธนาคารสำเนาสมุดบัญชีคู่ฝาก และเอกสารใบแจ้งรายการเดินบัญชีธนาคาร (Bank Statement) ซึ่งแสดงเงินฝากประจำ จำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาทในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
- หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากของธนาคารพร้อมระบุข้อมูลสำหรับติดต่อธนาคาร
สำเนาสมุดบัญชีคู่ฝาก และเอกสารใบแจ้งรายการเดินบัญชี (Bank Statement) ซึ่งแสดงเงินฝากประจำ จำนวนเงินไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และหนังสือรับรองรายได้ประจำต่อปีไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท โดยเมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว จะต้องมีเงินฝากในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาทภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี
- เอกสารหรือหลักฐานรับรองความประพฤติ หรือหนังสือรับรองประวัติอาชญากรรม
จากประเทศที่คนต่างด้าวถือสัญชาติและหากคนต่างด้าวมีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในประเทศอื่น ต้องมีเอกสารดังกล่าวจากประเทศที่คนต่างด้าวมีถิ่นพำนักถาวรด้วย
- ใบรับรองแพทย์จากประเทศที่ยื่นคำร้องที่แสดงว่าไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงฉบับที่ 14 พ.ศ. 2535 ได้แก่ โรคเรื้อน (Leprosy) วัณโรคในระยะอันตราย (Tuberculosis) โรคเท้าช้าง (Elephantiasis) โรคยาเสพติดให้โทษ (drug addiction) และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 (third stage of Syphilis) ทั้งนี้ ใบรับรองต้องมีอายุไม่เกิน 3 เดือน
- สำเนาหลักฐานการมีประกันภัย (ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด) และกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทยโดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับค่าพยาบาลในกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 และในกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท
- คู่สมรส ที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่จำกัดอายุ) ที่มีสัญชาติและถือหนังสือเดินทางของ 14 ประเทศข้างต้น ให้ผู้ร้องแสดงหลักฐานทะเบียนสมรสประกอบคำร้องของทั้งผู้ร้อง และคู่สมรสและต้องเตรียมเอกสารเตามข้างต้น
- บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ (รวมถึงบุตรบุญธรรมแสดงสำเนาสูติบัตรหรือเอกสารรับรองความเป็นบุตร และต้องเตรียมเอกสารตาม ข้อ 1 – 3 และ ข้อ 7
ข้อมูลเพิ่มเติม
- คนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตรา “Non O-X” เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย สามารถขอเปลี่ยนจาก Non O-X เป็นประเภท/รหัสอื่นได้ โดยติดต่อยื่นคำร้องที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งนี้ การตรวจลงตรา Non O-X ของคู่สมรสติดตามและบุตรจะสิ้นสุดลงและถูกเปลี่ยนไปตามผู้ขอหลัก อย่างไรก็ดี คู่สมรสสามารถแยกขอรับ Non O-X ให้ตัวเองได้ หากมีคุณสมบัติและเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์
- คนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทอื่นที่ไม่ใช่ Non O-X รวมถึงคนต่างด้าวที่ได้ รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา และเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว สามารถเปลี่ยนเป็นประเภท Non O-X ได้หากมีคุณสมบัติและเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ โดยติดต่อยื่นคำร้องที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- ในกรณี่คุณสมบัติไม่ครบสำหรับการขอรับการตรวจลงตรา “ O – X ” คู่สมรสติดตามและบุตรสามารถขอับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวรหัสอื่นๆ ได้ เช่น รหัส “O” หรือ “O – A” (Long Stay) หรือ “ED”
- การอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยจะสิ้นสุดลงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจพบ กรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้
- เมื่อครบระยะเวลา 1 ปี มีเงินในบัญชีเงินฝากน้อยกว่า 3,000,000 บาท
- ในปีที่ 2 มีเงินฝากในบัญชีเหลือน้อยกว่า 1,500,000 บาท และค่าใช้จ่ายไม่ได้เป็นไป เพื่อการใช้จ่ายในราชอาณาจักร เช่น สำหรับการรักษาพยาบาล ซื้อคอนโดมิเนียม ซื้อยานพาหนะ และการศึกษาของบุตร
- ไม่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพ
- ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
- มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นภัยต่อสังคมหรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
- กรณีคู่สมรส/บุตร ที่ใช้สิทธิติดตาม หากภายหลังการอนุญาตของผู้มีสิทธิหลัก สิ้นสุดลงการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของผู้ติดตามย่อมสิ้นสุดลงด้วย
- หากบุตรอายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์
2. วีซ่าอัธยาศัยไมตรี (Courtesy Visa)
การตรวจลงตราประเภทอัธยาศัยไมตรีจำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- การขอรับการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางราชการ หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางราชการ เพื่อการอื่นนอกจากการเข้ามาประจำการในราชอาณาจักร เพื่อปฏิบัติหน้าที่การทูต หรือกงสุลหรือราชการ
- การขอรับการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งประสงค์จะเข้ามาใน
ราชอาณาจักรในฐานะเป็นพระราชอาคันตุกะ ราชอาคันตุกะ แขกของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐอายุวีซ่า 90 วัน ต่อครั้ง
ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร 90 วัน ต่อครั้ง
ค่าธรรมเนียม ยกเว้นค่าธรรมเนียม
เอกสารประกอบการพิจารณา
- หนังสือนำจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือจากสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุล /หน่วยราชการ ของประเทศผู้ขอ หรือจากหน่วยงาน หรือองค์กรของสหประชาชาติที่ผู้ร้องสังกัดอยู่ หรือจากหน่วยราชการของไทย โดยหนังสือรับรองจะต้องระบุชื่อตำแหน่ง และวัตถุประสงค์การเดินทางให้ชัดเจน
หมายเหตุ: การขยายระยะเวลาพำนัก เมื่อครบกำหนดตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว โดยทั่วไปสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะไม่อนุญาตให้อยู่ต่อไป เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเดินทางออกไปได้ โดยในการขอยื่นคำร้องขออยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะต้องมีหนังสือรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศแจ้งขอเป็นรายๆ ไปเพื่อนำเรื่องเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งการ และต้องเสียค่าธรรมเนียมการขออยู่ตามปกติ
3. วีซ่าทูต (Diplomatic Visa)
- การตรวจลงตรา (*จำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว)
- เพื่อปฏิบัติหน้าที่ราชการ
- *ผู้ร้องต้องถือหนังสือเดินทางทูต หรือ หนังสือเดินทางสหประชาชาติ (UN Laissez-Passer) ซึ่งเทียบเท่าหนังสือเดินทางฑูตเท่านั้น
- ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร 90 วัน ต่อครั้ง
- ค่าธรรมเนียม *ยกเว้นค่าธรรมเนียม
เอกสารประกอบการพิจารณา
- ผู้ร้องจะต้องแสดงหนังสือนำจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศ หรือจากหน่วยงานหรือองค์กรของสหประชาชาติที่ผู้ร้องสังกัดอยู่
4. วีซ่าคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)
การตรวจลงตรา: คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- การปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ(F)
- การติดต่อหรือประกอบธุรกิจ และการทำงาน(B)
- การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง(IM)
- การลงทุนหรือการอื่นภายใต้ข้อบังคับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน(IB)
- การศึกษา ดูงาน และฝึกอบรมต่างๆ(ED)
- การปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน(M)
- การเผยแผ่ศาสนาที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ(R)
- การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์หรือฝึกสอนในสถาบันการค้นคว้า หรือสถาบันการศึกษา ในราชอาณาจักร (RS)
- การปฏิบัติงานด้านช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ(EX)
5. วีซ่าเพื่อการอื่น (O)
- การเข้ามาใช้ชีวิตในบั้นปลายในฐานะผู้สูงอายุ
- การเข้ามาในฐานะคู่ความหรือพยานสำหรับการพิจารณาดำเนินคดี
- การปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจในครอบครัวคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางการทูต กงสุลหรือปฏิบัติภารกิจอื่น โดยเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร ซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
- การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคนรับใช้ส่วนตัวซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อมาทำงาน ตามปกติ ณ ที่พักอาศัยของบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต หรือบุคคลซึ่งมีเอกสิทธิ์ เท่าเทียมกันกับบุคคลซึ่งมีตำแหน่งทางการทูตตามความตกลงที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ หรือกับองค์การ หรือทบวงการระหว่างประเทศ
- การให้ความอุปการะแก่หรือรับความอุปการะจากบุคคลสัญชาติไทย หรือบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร ซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว
- การปฏิบัติหน้าที่ให้แก่รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การกุศลสาธารณะ
- การเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้เคยมีสัญชาติไทย เพื่อเยี่ยมญาติ หรือขอกลับเข้า มาอยู่ในราชอาณาจักร
- การเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการรักษาพยาบาล
- การเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาตามความต้องการของทาง ราชการ
อายุวีซ่า
- 3 เดือน (Single Entries)
- 12 เดือน (Multiple Entries)
ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร
- 90 วัน ต่อครั้ง
ค่าธรรมเนียม
- 2,000 บาท (Single Entries)
- 5,000 บาท (Multiple Entries)
จำนวนเงินติดตัว*
- 20,000 บาท / คน
- 40,000 บาท / ครอบครัว
เอกสารประกอบการพิจารณา
- หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง อายุใช้งานคงเหลือ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- แบบฟอร์มวีซ่าที่กรอกข้อความสมบูรณ์
- รูปถ่ายขนาด 2 ½ นิ้ว จำนวน 2 รูป (ถ่ายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน /ไม่สวมหมวก และแว่นตาดำ)
6. วีซ่าเพื่อสำหรับ (O) การเข้ามาในฐานะเป็นบุคคลในครัวเรือนหรือในความอุปการะ
- หลักฐานการเป็นบิดา มารดา บุตร / สูติบัตร / ใบสำคัญการสมรส
- หนังสือรับรองการทำงาน ใบอนุญาตทำงานที่ยังมีอายุใช้งาน ของผู้ที่ทำงานในประเทศไทย
- หลักฐานแสดงว่าคู่สมรสเป็นคนสัญชาติไทย หรือเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหลักฐานแสดงฐานะทางการเงิน
- หนังสือจากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ องค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ แล้วแต่กรณี
7. วีซ่าเพื่อสำหรับ (O) เข้ามาเพื่อรับการรักษาพยาบาล
- หนังสือตอบรับจากสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ ในประเทศไทย
8. วีซ่า (O) คู่ความหรือพยานในศาล
- หนังสือหรือหมายจากศาลของไทย
9. วีซ่า (O) การเข้ามาเพื่อใช้ชีวิตในฐานะผู้สูงอายุ
- ผู้ร้องต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ระบุวัตถุประสงค์ว่าจะขอเข้ามาใช้ชีวิต ในฐานะผู้สูงอายุหรือเกษียณ และจะไม่ทำงานในระหว่างพำนักในไทย
- หลักฐานแสดงฐานะทางการเงินหรือหลักฐานการได้รับเงินบำนาญ
- ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ คนอยู่ชั่วคราวเพื่อการพำนักในราชอาณาจักร ระยะยาว (Long Stay O-A , O-X)
10. วีซ่า (ED) นักเรียน / นักศึกษา
- หนังสือตอบรับจากสถานศึกษา
11.วีซ่า (ED) นักบวชที่จะเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา
- หนังสืออนุญาตจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
12.วีซ่า (F) การปฏิบัติหน้าที่ราชการ / รัฐวิสาหกิจ สำหรับ (ED) การฝึกอบรม ดูงาน
- หนังสือจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ องค์การระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
13. วีซ่า (B) ทำงาน
- หนังสือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งผลการพิจารณาอนุญาตให้ คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในบริษัทฯ
14.วีซ่า (B) การติดต่อธุรกิจ
- หนังสือรับรองการทำงานของบริษัทที่ผู้ร้องทำงานอยู่ รวมทั้งระบุวัตถุประสงค์ของการเดินทางไปประเทศไทย ชื่อบริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานที่จะไปติดต่อ
- หลักฐานแสดงฐานะทางการเงินหรือการทำธุรกิจของผู้ร้อง (กรณีไม่ได้ทำงานกับริษัทหรือหน่วยงานใดๆ)
- หลักฐานแสดงสถานะทางการเงิน/โครงการที่จะเข้ามาประกอบในประเทศไทย (กรณีประสงค์จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบกิจการในประเทศไทย)
- หลักฐานแสดงฐานะทางการเงินหรือการทำธุรกิจของผู้ร้อง (กรณีไม่ได้ทำงานกับริษัทหรือหน่วยงานใดๆ)
- หนังสือเชิญของบริษัทในประเทศไทยให้ผู้ร้องเดินทางไปประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจ (โดยต้องแนบเอกสารของบริษัท เช่น ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด จากกระทรวงพาณิชย์ / บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น / ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ถ้ามี) / ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม / งบการเงินปีล่าสุด ฯลฯ)
- กรณีผู้ร้องอ้างว่าเป็นที่ปรึกษาของบริษัท ต้องมีสำเนาหนังสือแต่งตั้งบุคคลของบริษัทนประกอบด้วย
15. วีซ่า (B) ครู / อาจารย์ในสถาบันการศึกษาเอกชน
- หนังสือตอบรับการจ้างจากสถาบันการศึกษา
- หลักฐานวุฒิการศึกษา
- หนังสือรับรองว่าไม่มีประวัติอาชญากรรม