Site icon บริษัท สำนักงานบัญชีกรุงเทพ (2009) จำกัด

ต่างชาติสมรสกับชาวไทย

การจดทะเบียนสมรสระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาตินั้น เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งโดยคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ ว่าการจดทะเบียนสมรสต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง ที่ไหน และขั้นตอนอย่างไรบ้างทางเรา ได้รวบรวมข้อมูลที่คุณควรรู้มาให้ค่ะ สิ่งสำคัญ คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง และลงลายมือชื่อต่อหน้า นายทะเบียน พร้อมพยานอีกสองท่าน

เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรส

ชาวต่างชาติ
o คำร้อง
o ใบรับรองความโสด
o หนังสือเดินทาง (Passport) ฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
o ใบสำคัญการหย่าฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด (ถ้ามี)
o หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูต หรือสถานกงสุล
หรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้นๆ พร้อมแปล
o เอกสารอื่นๆ เช่น ใบเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล (ถ้ามี)

 

ชาวไทย

o คำร้อง
o ทะเบียนบ้านฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
o บัตรประชาชนฉบับจริง พร้อมสำเนา อย่างละ 1 ชุด
o พยาน 2 ท่าน พร้อมบัตรประชาชนตัวจริง
(พยานจะต้องเป็นบุคคลใกล้ชิด เช่น บิดา มารดา พี่น้อง ญาติ )
o ใบสำคัญการหย่าฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
o เอกสารอื่นๆ เช่น ใบเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล (ถ้ามี)
o มรณบัตร (กรณีคู่สมรสเดิมเสียชีวิต)

หมายเหตุ : ระยะเวลาและเอกสารที่แจ้งข้างต้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับสัญชาติของชาวต่างชาติ

 

คุณสมบัติของผู้จดทะเบียนสมรส :

o อายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ต้องมีบิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอม
o หากอายุ 20 ปีบริบูรณ์สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง
o ชายหรือหญิงต้องมีสัญชาติไทย
o ไม่วิกลจริต หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
o ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือเป็นพี่น้องร่วมแต่บิดามารดา
o ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
o ห้ามไม่ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม
o หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ได้ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่

+ คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
+ มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
+ สมรสกับคู่สมรสเดิม
+ มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้

 

จดทะเบียนสมรสได้ที่ใด??

o กรณีอยู่ในประเทศไทยจดทะเบียนสมรส

+ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต

o กรณีอยู่ต่างประเทศ จดทะเบียนสมรส

+ ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศนั้นๆ

( ทำได้เฉพาะการจดทะเบียนระหว่างบุคคลสัญชาติไทยหรือระหว่างบุคคลสัญชาติไทยกับต่างชาติ เป็นการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย หากในอนาคตมีความจำเป็นที่ต้องย้ายไปอยู่ประเทศเกิดของสามีหรือภรรยา ก็ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสซ้ำอีกเพียงแต่ให้ติดต่อรับรองการจดทะเบียนสมรสของประเทศนั้นๆ)

 

การจดทะเบียนสมรสมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง??

1.ยื่นขอใบรับรองความเป็นโสดจากสถานทูตของชาวต่างชาติ ประจำประเทศไทย
2.นำใบโสดไปแปลเป็นภาษาไทยและนำไปรับรองตราประทับจากกระทรวงการต่างประเทศ
3.ไปที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตตามเวลาที่นัดหมายกับเจ้าหน้าที่พร้อมล่ามและพยาน (ให้พยานนำบัตรประชาชนฉบับจริงไปด้วย)
4.ติดต่อฝ่ายทะเบียน แล้วยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่
5.จากนั้นกรอกเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่มอบให้มา
6.เจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย เช่น ระยะเวลาที่คบหาระยะเวลาที่อยู่กินกัน ฝ่ายหญิงจะใช้คำนำหน้านามเป็นอะไร ใช้นามสกุลตามฝ่ายชายหรือไม่ก็ได้
7.ล่ามจะช่วยแปลรายละเอียดในการจดทะเบียนสมรสให้กับทั้งสองฝ่ายได้ทราบ
8. เจ้าหน้าที่มอบเอกสารทะเบียนสมรส (คร.2) และใบสำคัญการสมรส (คร.3)ให้กับทั้งสองฝ่ายๆละ 1 ชุด

 

สำหรับผู้ที่วางแผนจะขอวีซ่าหรือจะกลับไปแจ้งกับประเทศตนว่าได้แต่งงานที่ประเทศไทยแล้วนั้นแนะนำว่าขอคัดเอกสาร คร.2 ฉบับภาษาอังกฤษด้วย สำนักงานเขตสามารถออกเอกสารเป็นภาษาอังกฤษให้ได้

หลังจากจดทะเบียนสมราเสร็จสิ้นทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะเลือกได้ดังนี้

+ ใช้นามสกุลเดิมทั้งสองฝ่าย
+ หญิงใช้นามสกุลของสามี
+ ชายใช้นามสกุลของภรรยา
+ หญิงใช้นามสกุลของสามี ชายใช้นามสกุลของภรรยา
+ หญิงไทยที่สมรสกับสามีต่างชาติสามารถใช้นามสกุลเดิมของตนเองเป็นชื่อรองได้

* เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วคนไทยที่ได้ทำการเปลี่ยนนามสกุลควรรีบมาดำเนินการเปลี่ยนชื่อในทะเบียนราษฎร์ให้เรียบร้อยพร้อมทำหนังสือเดินทางฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด

Exit mobile version